40,044 total views, 16 views today

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

ไข้หวัดใหญ่เป็นอาการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัส influenza ที่ระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยจะมีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอ่อนเพลีย

อาการของไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร?
โดยทั่วไปลักษณะอาการค่อนข้างคล้ายไข้หวัดธรรมดา เพียงแต่อาจมีอาการหนักกว่า และยาวนานกว่า เช่น ไข้สูง และนานกว่า ปวดเมื่อยตามตัวมากกว่า อ่อนเพลียมากกว่า และมักเป็นแบบทันทีทันใด ไม่ใช่อาการค่อยเป็นค่อยไปทีละอย่างเหมือนไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการนานถึง 6-10 วัน นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ยังเสี่ยงจะมีภาวะแทรกซ้อนมากกว่า จึงทำให้บางครั้งผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาจต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อคอยดูอาการ ป้องกันอาการแทรกซ้อน และการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อะไรเป็นสาเหตุของการเกิด ไข้หวัดใหญ่?

เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ที่มีอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า Orthomyxovirus

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์?
เท่าที่เราทราบกันอยู่ คือ ไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
  2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

สายพันธุ์ C มีความรุนแรงน้อย และไม่ทำให้เกิดการระบาด จึงไม่นับรวมอยู่ในกลุ่มของไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้น สามารถแบ่งแยกออกมาย่อยๆ ได้อีกมากมาย ตามที่เราเห็นกันในข่าว เช่น A(H1N1), A(H1N2), A(H3N2), A(H5N1) และ A(H9N2) ตามความแตกต่างของโปรตีนของไวรัสที่เรียกว่า hemagglutinin (H) และ neuraminidase (N) ที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่นั้นๆ นั่นเอง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจนเป็นสาเหตุให้มีคนเสียชีวิต คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ชนิด H1N1 และ H5N1 เป็นต้น

ใครที่มีความเสี่ยงในการเป็นไข้หวัดใหญ่บ้าง?
ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไร ก็สามารถเสี่ยงเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ หากภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดีพอ แต่คนที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น คือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ เบาหวาน และกลุ่มผู้สูงอายุ
ไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้อย่างไร?
ไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อกันจากการรับเชื้อไวรัสผ่านการไอ จาม พูด และลมหายใจของผู้ที่ติดเชื้อ รวมไปถึงน้ำลายจากการใช้ช้อน แก้วเดียวกัน หรือแม้กระทั่งสัมผัสข้าวของที่ผู้ป่วยสัมผัส หลังจากใช้มือป้องปากเวลาจามหรือไอด้วย

การรักษาไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัด เป็นโรคที่ไม่มียารักษาโดยตรง ทำได้แต่เพียงรักษาตามอาการที่มีเท่านั้น เช่น มีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เจ็บคอก็ให้ยาแก้เจ็บคอ เป็นต้น ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ก็เช่นกัน แพทย์จะรักษาตามอาการ พร้อมกับติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง แพทย์จึงค่อยพิจารณาการใช้ยาที่กดการเพิ่มจำนวนของไวรัส คือ Amantadine หรือ Rimantadine

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  1. สามารถรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป
  2. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่สักระยะ เพื่อป้องการการระบาด และแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจากคนหนึ่ง ไปยังอีกคนหนึ่ง
  4. ล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหาร หรือหยิบจับอาหารขึ้นมาทาน
  5. ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือเมื่อจามหรือไอ ควรใช้กระดาษทิชชู่ปิดปาก แล้วขยำทิ้งลงถังขยะ และควรหยุดเรียน หยุดงาน เพื่อรักษาตัวให้หายโดยเร็ว และไม่เป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสให้คนอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก https://th.ac-illust.com