2,107 total views, 3 views today
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพของบุคลากรและนิสิตจุฬาฯ เพื่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลโรค มีสุขภาวะที่ดี เมื่อมีอาการเจ็บป่วย หน่วยงานแรกที่ชาวจุฬาฯ นึกถึงคือศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารจามจุรี 9 หน่วยงานแห่งนี้ให้บริการทางการแพทย์ที่ครบวงจร ทั้งการให้บริการคลินิกตรวจโรคทั่วไป คลินิกตรวจโรคเฉพาะทาง 11 สาขา คลินิกทันตกรรม ห้องกายภาพบำบัด รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพร่างกาย และบริการรถพยาบาลนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล กรณีเจ็บป่วยในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง 365 วัน
ปัจจุบันศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เน้นการพัฒนาระบบบริการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคก่อนเกิดภาวะเจ็บป่วย ภายใต้แนวคิด “เมืองสุขภาพจามจุรี” เพื่อรองรับนโยบายด้านสุขภาวะของจุฬาฯ ในโอกาสที่ศูนย์บริการสุขภาพฯ ครบรอบ 60 ปี จึงได้จัดโครงการ “ห้องเอกซเรย์ระบบดิจิตอล”(CUHC General Digital X-Ray 2020) เพื่อให้บริการด้านรังสีวินิจฉัยในกลุ่มโรคต่างๆ แก่ประชาคมจุฬาฯ โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในงานเปิดตัวโครงการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ณ ชั้น 2 อาคารจามจุรี 9
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า “เครื่องเอกซเรย์เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจวินิจฉัยโรค ห้องเอกซเรย์ระบบดิจิตอลที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ จะช่วยให้การบริการด้านสุขภาวะแก่นิสิตและบุคลากรจุฬาฯ มีประสิทธิภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ในขณะเดียวกันก็มีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์หรือโรงพยาบาลใกล้เคียงด้วย ซึ่งจะทำให้ในอนาคตศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ จะเป็นต้นแบบในด้านการดูแลรักษาพยาบาลให้กับหน่วยงานอื่นๆ และขยายการให้บริการไปถึงประชาชนทั่วไปต่อไป”
นพ.สัณฐิติ ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เปิดเผยว่า ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ มีจุดเริ่มต้นจากหน่วยอนามัยจุฬาฯ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2502 รวมระยะเวลากว่า 63 ปีแล้ว ซึ่งยังไม่เคยมีเครื่องเอกซเรย์มาก่อน เมื่อผู้ป่วยต้องเอกซเรย์หรือมีผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินต้องนำส่งโรงพยาบาล อาจต้องใช้เวลาและขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก จึงเป็นที่มาของโครงการนี้
“CUHC General Digital X-Ray 2020 เป็นเครื่องเอกซเรย์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ทันสมัยระดับโลก ยี่ห้อ Phillip รุ่น Digital Diagnost C90 นำเข้าเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สิ่งที่เราคาดหวังมากกว่านั้น คือการให้นิสิตและบุคลากรได้รับการตรวจสุขภาพ การเอกซเรย์ปอด การขอใบรับรองแพทย์ หรือการต่ออายุราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาคมจุฬาฯ” นพ.สัณฐิติ กล่าว
อ.นพ.ธนัท ทับเที่ยง อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีแพทย์ กล่าวว่า “เครื่องเอกซเรย์สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดคมชัดสูง สามารถตรวจวินิจฉัยอวัยวะต่างๆ ทั้งในส่วนของปอด ช่องท่อง กลุ่มโรคกระดูกและข้อ กระดูกสันหลัง กระดูกข้อเข่า กระโหลกศีรษะ เป็นต้น โดยฉากรับภาพเอกซเรย์เป็นระบบดิจิทัลจะส่งมายังที่จอภาพ จากนั้นรังสีแพทย์จะสามารถอ่านภาพและแปลผลได้ทันทีโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที”
ห้องเอกซเรย์ระบบดิจิตอล เปิดให้บริการแก่คณาจารย์ บุคลากร นิสิต รวมถึงประชาชนบริเวณโดยรอบจุฬาฯ ตั้งแต่บัดนี้เป็นไป สามารถติดต่อได้ที่ 0-2218-0590 หรือ 0-2218-0563